Sunday, February 8, 2015

‘วัดเชียงทอง’หลวงพระบาง'อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้าง'

‘วัดเชียงทอง’ หลวงพระบาง สปป.ลาว ‘อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้าง’ : เรื่อง / ภาพ แล่ม จันท์พิศาโล

วัดเชียงทอง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เป็นวัดเก่าแก่ที่สุดของแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ที่มีความสวยงามอลังการมาก นับเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องไปชมให้ได้ เมื่อไปเยือนเมืองนี้...จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมสกุลช่างล้านช้าง” ที่มีความงดงามยิ่ง

วัดเชียงทอง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๐๓ โดย พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรล้านช้างและล้านนา ก่อนที่พระองค์จะทรงย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางไปยังนครหลวงเวียงจันทน์

วัดเชียงทอง ถือเป็น “วัดประตูเมือง” และเป็นท่าเทียบเรือด้านเหนือ สำหรับการเสด็จประพาสทางชลมารค ของกษัตริย์หลวงพระบาง วัดนี้จึงได้รับการอุปถัมภ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะในสมัย เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ และ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา กษัตริย์สองพระองค์สุดท้ายของราชอาณาจักรลาว

และที่สำคัญ วัดเชียงทอง ยังเป็นวัดหนึ่งที่รอดพ้นจากอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่เผาผลาญเมืองหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ สิ่งก่อสร้างที่สำคัญ อาทิ พระอุโบสถ ซุ้มประตูโขง พระธาตุ หอไหว้น้อย หอไหว้สีกุหลาบ หอไหว้หลังพระอุโบสถ หอกลอง หอราชโกศเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ฯลฯ ยังคงอยู่อย่างครบถ้วน และสมบูรณ์เหมือนเดิมทุกประการ



ความโดดเด่นของวัดเชียงทอง คือ พระอุโบสถ (ชาวลาวเรียกว่า “สิม”) ซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามอลังการมากจนได้รับการกล่าวขานมากที่สุด เปรียบประดุจอัญมณีแห่งงานสถาปัตยกรรมของราชอาณาจักรลาวอย่างแท้จริง

พระอุโบสถ (สิม) ของวัดนี้ถือว่าเป็นแบบอย่างของหลวงพระบางอันเก่าแก่ สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน มีโครงสร้างที่ไม่สูงนัก มีความงดงามด้วยสัดส่วนและการประดับตกแต่งต่างๆ อย่างลงตัว

สิ่งที่โดดเด่นเป็นพิเศษ คือ หลังคาซ้อน ๓ ตับ ลักษณะโค้งงอน และลาดต่ำลงมามาก ทั้งนี้ เพื่อป้องกันฝนสาดเข้าไปในพระอุโบสถ

บนกลางสันหลังคามีการทำ “ช่อฟ้า” รูปเขาพระสุเมรุ และทิวเขาสัตตบริภัณฑ์ที่ล้อมรอบ ๗ ชั้น รองรับด้วยปลาอานนท์ อันเป็นรูปแบบการจำลองจักรวาลตามคติทางพุทธศาสนา  เช่นเดียวกับที่ปรากฏในจิตรกรรมของล้านนาและอยุธยา

หน้าบันของพระอุโบสถ แกะสลักเป็นรูปดอกตาเว็น หรือลายดวงอาทิตย์ ที่ดูคล้ายกับลายดอกจอกของไทย




ด้านหลังพระอุโบสถ ตกแต่งด้วยภาพประดับกระจกที่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาปะติดปะต่อกันเป็นภาพรูป “ต้นทอง” ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการสร้างเมืองเชียงดง-เชียงทอง

ภาพประดับกระจกนี้งดงามมากยามเมื่อต้องกับแสงอาทิตย์ เป็นมุมหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกันมาก

ด้านหนึ่งของพระอุโบสถ คือ วิหารน้อย (หรือหอไหว้น้อย) มีหลังคาเป็นรูปใบโพธิ์ตัดครึ่ง อันเป็นรูปแบบของลาวดั้งเดิมซึ่งประดับด้วยกระจกสีงดงามมาก

ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย พระราชทานให้แก่ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์

วิหารอีกหลังหนึ่งเรียกว่า “หอไหว้สีกุหลาบ” (สีชมพู) เป็นหอไหว้เก่าแก่ที่มีการบูรณะครั้งใหญ่โดย “ท้าวคำม้าว” เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ เพื่อเป็นการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษของพระพุทธศาสนา

วิหารหลังนี้ประดับด้วยกระจกสีต่างๆ ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วปะติดปะต่อเป็นภาพเล่าเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องราววรรณกรรมชั้นเอกของลาว และเรื่องราวของวิถีชีวิตชาวบ้านทั่วๆ ไป

ภายในมี พระพุทธรูปปางไสยาสน์ เนื้อสัมฤทธิ์ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๒ ในสมัย พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช มีความงดงามมาก เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ ฝรั่งเศสได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ไปแสดงที่กรุงปารีส ต่อมาเจ้าสุวรรณภูมา ทรงขอกลับคืนมาเมื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว

และที่ดูแปลกตา คือ ช่องบรรจุพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนนับพันองค์บนผนังภายในวิหารหลังนี้ เป็นเรื่องของพระอนันตพระพุทธเจ้า



วิหารหลังใหญ่ หลังพระอุโบสถ เป็นหอไหว้เก่าแก่ที่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ หอไหว้หลังนี้ประดิษฐานพระม่าน (พระพม่า) ที่ชาวหลวงพระบางนับถือกันมาก เนื่องจากพม่าได้เข้ามามีอิทธิพลในล้านช้างอยู่ระยะหนึ่ง ในช่วงท้ายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ชาวลาวนิยมมาบนบานเพื่อขอบุตรจากพระม่านองค์นี้

นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่มีความสวยงามอีกมากมาย อาทิ หอกลอง หอราชโกศเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ (โรงเมี้ยนโกศ) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ หลังการสิ้นพระชนม์ของ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ เป็นอาคารที่มีหลังคาสูง ประดับด้วยงานแกะสลักเรื่องรามเกียรติ์ งดงามมาก หอราชโกศนี้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษามรดกเก่าแก่ของหลวงพระบาง เช่น ราชรถ ไม้แกะสลักปิดทอง ประดิษฐานพระโกศ ๓ องค์ คือ องค์ใหญ่ตรงกลางเป็นของเจ้าศรีสว่างวงศ์ องค์เล็กด้านหลังของพระราชมารดา ส่วนองค์ด้านหน้าเป็นของพระเจ้าอา

นอกจากนี้ยังมีศิลปวัตถุอีกจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูป บานประตูโบราณ ภาพพระบฏ ฯลฯ

พระธาตุเจดีย์ ในวัดเชียงทองมีจำนวนหลายองค์ทั้งทางด้านหน้าและด้านหลังของพระอุโบสถ

ซุ้มประตู เป็นประตูโค้งทาสีเขียว สร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ แม้จะมีการบูรณะบ้าง แต่ยังคงรักษาโครงสร้างเดิมไว้

กุฏิ เป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ มีลักษณะเป็นเรือนหลังคาแฝดสองหลัง เหมือนกับเรือนพักในเมืองหลวงพระบาง

               (ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก “หนังสือวัดในหลวงพระบาง” โดย วรสัญจ์ บุณยสุรัตน์)

เช่ารถตู้เชียงราย,ทัวร์สิบสองปันนา,ทัวร์เชียงตุง-เมืองลา,ทัวร์หลวงพระบาง
ทีมงานไอเชียงราย คนท้องถิ่นเชียงราย สุภาพ ใจบริการเกินร้อย :: บริษัท ไอเชียงราย จำกัด :: เลข ที่ 185/8 หมู่ 4 ต. ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย 57100 สายด่วนจองทัวร์ (หนุ่ย) 081-8854644 (ใบอนุญาตนำเที่ยวในและต่างประเทศเลขที่ 21-00512) แฟกซ์: 053-152141 อีเมล์: booking@ichiangrai.com เวบไซต์: http://www.ichiangrai.co.th

No comments:

Post a Comment