Tuesday, January 27, 2015

"การเคลื่อนตัวของไทลื้อเข้าสู่ดินแดนล้านนา" **ตอนที่ 3

 การอพยพ ช่วงที่ 2 ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง
.. ยุคสมัยนี้ถือเป็น ยุคของการอพยพกวาดต้อนผู้คนชาวไทลื้อที่มีจํานวนมากที่สุดเข้ามาสู่ ดินแดนล้านนา อันเนื่องมาจากล้านนาที่กำลังฟื้นตัวจากภาวะศึกสงครามและขาดแคลนกําลังคน จึงถือโอกาสจากการไปทําศึกสงครามแล้วกวาดต้อนผู้คนเข้าสู่ล้านนา โดยการนําของพระเจ้ากาวิละ กษัตริย์องค์แรกของราชวงค์เจ้าเจ็ดตนแห่งล้านนา(พ.ศ.2325-2358)และพระยา อุปราชธรรมลังกา ออกไปโจมตีเมืองเล็กเมืองน้อยในรัฐฉานและแคว้นสิบสองพันนาเพื่อช่วงชิงเอา กําลังคนเหล่านี้มาไว้ที่เชียงใหม่ ลําพูน ลําปางนับตั้งแต่ระยะเวลาแรกที่ได้เริ่มขับไล่ทหารพม่าออกจากล้านนาจน กระทั้งพม่าหมดอํานาจลงในอาณาเขตของล้านนาแห่งสุดท้ายที่เชียงแสนใน พ.ศ.2347

.. ในเขตล้านนาตะวันออกในยุคนั้น เมืองน่าน เมืองแพร่ก็มีบทบาท เช่นกัน โดยเฉพาะเมืองน่านเมื่อเข้าสวามิภักดิ์กับสยามก็ได้พยายามสร้างผลงานใน ลักษณะแข่งขันกับเมืองเชียงใหม่ เมืองน่านทุ่มเทช่วยทำศึกสงครามขับไล่พม่าออกจากเชียงแสน พ.ศ. 2347 และทําความชอบโดยกวาดต้อนชาวลื้อสิบสองพันนา เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองน่าน และได้ทําการกวาดต้อนมาเรื่อยๆหลายครั้ง จนมาถึงสงครามเชียงตุงในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช ในขณะเดียวกันทางสิบสองพันนาก็มีปัญหาภายในด้านการแย่งชิงอํานาจกันเอง แล้วเข้ามาขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์สยาม จึงได้สั่งกองทัพใหญ่เข้าไปยึดเมืองเชียงตุงและในสงครามครั้งนี้ เมืองน่านก็ได้กวาดต้อนผู้คนในสิบสองพันนาเข้ามาอีก

ช่วงที่ 3 หลังยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง
.. ในยุคหลังนี้ พบว่ามีชาวไทลื้อเคลื่อนตัวเข้ามาสู่ดินแดนล้านนา แต่ไม่มากเหมือนในยุคที่สอง ในยุคหลังนี้ชาวไทลื้อส่วนใหญ่จะมาจากการเดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มเล็กๆ ในลักษณะ “น้ําซึมบ่อทราย” และเข้ามาเพิ่มมากขึ้นหลัง พ.ศ. 2500 ในยุคที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองและเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ กล่าวคือ เป็นการอพยพเข้ามาเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ผ่านเข้ามาตามรอยต่อของชายแดน เช่น แม่สาย เชียงแสน เทิง เชียงคํา น่าน เป็นต้น

.. การอพยพครั้งหลังนั้นเกิดขึ้นจาก ปัจจัยทางด้านการค้าขายและการเสาะแสวงหาที่ทํากิน การติดตามญาติพี่น้องที่มาอยู่ก่อนแล้ว และหลบหลีกภัยสงคราม บางส่วนก็หนีติดตามจีนคณะชาติ ซึ่งเดินทางผ่านดอย ในอําเภอเชียงคํา แล้วไปน่าน และ เพื่อเดินทางออกไปสมทบกับทหารจีนคณะชาติที่เมืองเชียงฮ่อน ราชอาณาจักลาว

.. ช่วงหลัง พ.ศ. 2500 ชาวไทลื้อที่อพยพเข้ามาจากประเทศข้างเคียงเป็นคนลื้อ ที่หลบลี้หนีภัยคอมมิวนิสต์เข้ามาอาศัยประเทศไทย หลักฐานจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ชาวไทลื้อที่อพยพเข้ามาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มักจะขอความเห็นใจจากทางราชการให้ได้อยู่ต่อในเมืองไทยก่อน เมื่อเหตุการณ์สงบก็จะกลับออกไป และชาวไทลื้อที่หนีมาถ้าหากไม่ได้ถูกทางการ ไทยจับได้ ก็จะตั้งรกรากอาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทยเลย

เอกสารอ้างอิง
1. ฟอลเกอร์ กราบอฟสกี้, เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง, การจัดประชุมทางวิชาการไทศึกษา:การเสวนาครั้งที่ 2, สํานักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2536, หน้า 2.
2. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา.กรุงเทพ.อัมรินทร์, 2551.หน้า 322.
3, รัตนาพร เศรษฐกุล. ชาวไทลื้อในจังหวัดน่าน .เชียงใหม่: ศูนย์วิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยพายัพ, 2536
4. หจช.มท3.1.2.15/31เรื่องเหตุการณ์ชายแดน.2504.
5. หจช. มท 3.1.71/18 บัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่อพยพมาจากประเทศข้างเคียง คนเชื้อชาติลื้อ.2504.

เมื่อท่านเดินทางมาเชียงรายอย่าลืมใช้บริการ เช่ารถตู้เชียงราย และ เช่ารถตู้เชียงรายพร้อมคนขับ ทีมงานไอเชียงราย คนท้องถิ่นเชียงราย สุภาพ ใจบริการเกินร้อย :: บริษัท ไอเชียงราย จำกัด :: เลข ที่ 185/8 หมู่ 4 ต. ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย 57100 สายด่วนจองทัวร์ (หนุ่ย) 081-8854644 (ใบอนุญาตนำเที่ยวในและต่างประเทศเลขที่ 21-00512) แฟกซ์: 053-152141 อีเมล์: booking@ichiangrai.com เวบไซต์: http://www.ichiangrai.co.th

No comments:

Post a Comment